“หมอนขิดของชาวศรีฐานเดิม เป็นหมอนหนุนและหมอนสามเหลี่ยมธรรมดา ได้มีการพัฒนาให้มีความหลาหลายอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงประโยชน์ใช้สอย และสีสันลวดลาย ปัจจุบันกลุ่มสตรีพัฒนาหมู่ 8 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าชิดให้กลายเป็นเบาะรองนั่ง หมอนสามเหลี่ยมที่นั่ง 1-3 พับ หมอนกระดูก ที่นอนระนาด ที่นอนพับ ปลอกหมอน ปลอกเบาะที่นั่ง ฯลฯ เพื่อตอบสนองแนวคิดด้านที่นอนสุขภาพ จนเป็นที่นิยมในสถานที่ท่องเที่ยวทั้งโรงแรม รีสอร์ท และสปา”
หมอนขิดของใช้ที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันชุมชนหมู่บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ยังคงที่รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมในการสืบทอดการทำหมอนขิดให้ยังคงอยู่คู่กับชุมชน และสร้างอาชีพให้กับชุมชนศรีฐานกว่า 1,000 ครัวเรือนให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี
ที่มาของหมอนขิดมาจากผ้าที่นำมาใช้ที่เรียกว่า ผ้าขิด เป็นผ้าที่มีความผูกพันและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวศรีฐานมาแต่โบราณ โดยมีการนำผ้าขิดมาใช้งานหลายรูปแบบ ทั้งที่ใช้เองในชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องนุ่งห่ม ของฝาก สิ่งของประดับ จนผ้าขิดกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบ้านศรีฐานที่ทุกคนให้การยอมรับและภาคภูมิใจ และผ้าขิดเป็นต้นกำเนิดของหมอนสามเหลี่ยม หรือ หมอนขิด เพราะเป็๋นหมอนที่ทำมาจากผ้าขิด
สำหรับหมอนขิดได้อยู่คู่กับชุมชนชาวศรีฐานมาตลอด โดยชาวบ้านกว่า 98%หรือประมาณ 1,000 ครัวเรือนมีการทำหมอนขิดเพื่อจำหน่าย เรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านหมอนขิดก็ว่าได้ โดยสินค้าเกือบทั้งหมดจะถูกส่งมาจำหน่ายรวมกันที่บ้านประธานกลุ่ม และประธานกลุ่มจะมีหน้าที่จัดจำหน่ายหรือเป็นฝ่ายการตลาดให้ โดยชาวบ้านจะรับหน้าที่ในการผลิตตามแบบเท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตจะถูกแบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัดของแต่ละคน เช่น แผนกเย็บ แผนกยัดนุ่น โดยในส่วนของการยัดนุ่นมีการพัฒนาเครื่องจักรเข้ามาช่วยเพื่อป้องกันปัญหาโรคภูมิแพ้ที่จะเกิดกับชาวบ้าน ส่วนการออกแบบจะดูความต้องการของลูกค้าส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งลูกค้าเลือกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการออกแบบลวดลายขึ้นมาใหม่โดยสมาชิกภายในกลุ่มจะช่วยกันคิด